วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

เศรษฐีนางพญา วัดนางพญา พิษณุโลก

วัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับวัดราชบูรณะ ถัดไปทางทิศตะวันออก ลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยเดียวกับวัดราชบูรณะ ต่างกันที่วัดนางพญาไม่มีพระอุโบสถมีแต่วิหาร วัดนางพญานี้มีชื่อเสียงในด้านพระเครื่อง เรียกว่า "พระนางพญา" ซึ่งเล่าลือกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันหาบูชาได้ยากมาก ปัจจุบันวัดนางพญา มี "พระครูสุจิตธรรมวิมล" หรือ "หลวงพ่อชุบ" ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

"พระครูสุจิตธรรมวิมล" กล่าวถึง พระนางพญา ซึ่งเป็นวัตถุมงคลยอดนิยมของวัดว่า สร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรี อยุธยา แต่มีการสันนิษฐานต่อมาว่าผู้ที่สร้างคือ "พระวิสุทธิกษัตริย์" พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และเป็นพระราชมารดาของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทย พระนางพญาเป็นราชินีแห่งพระเครื่องเป็นพระกรุเก่าแก่ เป็นหนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคี คือพระเครื่องยอดนิยม 5 องค์ ได้แก่ พระสมเด็จ วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ, พระนางพญา จ.พิษณุโลก, พระซุ้มกอ จ.กำแพงเพชร, พระผงสุพรรณ จ.สุพรรณบุรี และ พระรอด จ.ลำพูน

"พระนางพญา หรือ พระพิมพ์นางพญา แม้เป็นพระแห่งยุคอยุธยา แต่ได้รับอิทธิพลพุทธศิลปะมาจากสกุลช่างสุโขทัย ในเรื่องสัดส่วน ทรวดทรง ศิลปะ อาจกล่าวได้ว่า การสร้างพระนางพญาเป็นการสืบสานศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ในรูปพระเครื่อง เป็นพระรูปทรงสามเหลี่ยมทุกพิมพ์นั่งมารวิชัยไม่ประทับบนอาสนะหรือมีฐานรองรับ รูปทรงงดงามแทบทุกพิมพ์โดยเฉพาะบริเวณอกที่ตั้งนูนเด่นและลำแขนทอดอ่อนช้อยคล้ายกับผู้หญิง จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่าพระพิมพ์นางพญา หรืออาจจะเรียกตามพระนามผู้สร้างคือ พระวิสุทธิกษัตรี"

ล่าสุด วัดนางพญา โดย "พระครูสุจิตธรรมวิมล" ได้ดำริจัดสร้าง พระนางพญาเบญจภาคีแห่งกฤตยาคมพลังพุทธาคมครอบจักรวาลขึ้น ชื่อ "รุ่นเศรษฐีนางพญา" วัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดนางพญา ได้มีการจัดพิธีเททองหล่อปฐมฤกษ์ไปแล้ว ณ มณฑลพิธีอุโบสถวัดนางพญา เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2555 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังร่วมนั่งอธิษฐานจิต ปลุกเสกคุมธาตุวันเททอง ประกอบด้วย หลวงพ่อรวย วัดตะโก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อชุบ วัดนางพญา จ.พิษณุโลก และหลวงพ่อพิทยา วัดหนองดง จ.พิจิตร เป็นต้น


กำหนดจัดให้มีพิธีมหาพุทธาภิเษก ในวันจันทร์ที่ 11 ก.พ.2556 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น