วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พระเกจิ นั่งปรก กับ พิธีพุทธาภิเษก

คำว่า "ปรก" และ "นั่งปรก" 2 คำนี้เป็นคำที่คนในแวดวงสร้างพระ และผู้เช่าหาวัตถุมงคลได้ยินทุกครั้งเมื่อมีการจัดสร้างวัตถุมงคล ส่วนคำว่า "ปางนาคปรก" เป็นชื่อเรียกพระพุทธรูปลักษณะนั่งสมาธิ และมีพญานาคแผ่หัวเป็นพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกพระเศียรของพระพุทธรูป แต่เดิมทำเป็นรูปพญานาคเป็นมนุษย์ มีรูปงู ๗ หัว เป็นพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกพระเศียร ในกิริยาที่พญานาคทำท่านมัสการพระพุทธเจ้า ต่อมาภายหลังทำพญานาคเป็นรูปงูขดตัวเป็นฐานตั้งพระพุทธรูปนั่งสมาธิบนตัวพญานาค และมีพังพานและหัวของพญานาค ๗ เศียรปรกอยู่

อย่างไรก็ตามพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า "ปรก" ในคำไทยหมายถึง ปก ปิด คลุม เช่น พระนาคปรก ผมปรกหน้า

ปรก ในคำวัด หมายถึง ซุ้มเล็กๆ ที่พระสงฆ์อาศัยในเวลาอยู่ปริวาส พอปกคลุมป้องกันแดดฝนได้ชั่วคราว ทั่วไปก็มุงด้วยใบไม้ หญ้าคา ใบมะพร้าว เป็นต้น เรียกการอยู่ในซุ้มนี้ว่า อยู่ปรก

นอกจากนี้ ปรก ยังใช้เรียกการนั่งเจริญจิตภาวนาในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลต่างๆ เช่น พิธีพุทธาภิเษกของพระสงฆ์ผู้ทรงวิทยาคุณ หรือเกจิอาจารย์ว่า นั่งปรก และเรียกพระสงฆ์ผู้เข้าพิธีนั้นว่า คณะปรก

พระเกจิคณาจารย์ดัง นั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสก ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันวันอังคารที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ในพิธีมหาพุทธาภิเษกพระกริ่ง “รุ่น ๑๕๕ ปี”

ส่วนการนั่งปรก คือ พระสงฆ์นั่งสวดมนต์ภาวนาปลุกเสกอธิษฐานจิต เพื่อสร้างพระ วัตถุมงคลต่างๆ เพื่อความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ โดยปกติจะมี ๔ ทิศ โดยรอบบริเวณพิธี มีสายสิญจน์โยงไว้โดยรอบ ถ้าต้องการละเอียดถูกต้องจริงๆ ขอให้ศึกษาค้นคว้าสอบถามข้อมูลทางพราหมณ์เพิ่มเติมด้วย

บทความจาก http://www.komchadluek.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น